กรมประมงเตรียมความพร้อมวงการอุตสาหกรรมประมงไทย แจงโอกาสและผลกระทบก่อนเข้าสู่ประชาคมอาเซียน
วันนี้(22เม.ย.56) ที่ ห้องสุวรรณมัจฉา โรงแรมราชมังคลา สงขลาเมอร์เมด อ.เมือง จ.สงขลา ดร.จิรวรรณ แย้มประยูร หัวหน้าผู้ตรวจราชการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดการสัมมนาเรื่อง " โอกาสและผลกระทบของการเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนต่อภาคอุตสาหกรรมประมง" ซึ่งกรมประมงจัดขึ้น เพื่อให้ผู้ประกอบการของไทยได้รับทราบนโยบายของภาครัฐเกี่ยวกับการเตรียมการภาคอุตสาหกรรมประมงของประเทศไทยเพื่อเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน การพัฒนามาตรฐานสินค้าตามข้อกำหนดของอาเซียน ตลอดจนชี้แจงโอกาสด้านเศรษฐกิจและผลกระทบจากการเข้าร่วมอาเซียนในปี 2558 โดยมีผู้เข้าร่วมสัมมนา ประกอบด้วย ผู้ประกอบการผลิตและส่งออกสินค้าประมงของไทยในภาคใต้ รวมทั้งเจ้าหน้าที่ภาครัฐที่เกี่ยวข้อง จำนวน 150 คน
นายสุนทร คำสุข ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและตรวจสอบ สัตว์น้ำและผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำสงขลา กล่าวว่า ประเทศไทยเป็นผู้ผลิตและส่งออกสินค้าสัตว์น้ำรายใหญ่ของโลก โดยในปี 2555 ที่ผ่านมาไทยมีการส่งออกสินค้าไปยังกลุ่มประเทศอาเซียนปริมาณ 296,625 ตัน คิดเป็นมูลค่า 14,532 ล้านบาท หรือร้อยละ 5 ของปริมาณและมูลค่าการส่งออกสินค้าสัตว์น้ำของไทยทั้งหมดซึ่งมีมูลค่า 264,775 ล้านบาท ในขณะเดียวกันมีการนำเข้าจากกลุ่มประเภทอาเซียนถึง 423,601 ตัน คิดเป็นมูลค่า 17,294 ล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นการนำเข้าวัตถุดิบสัตว์น้ำจากอินโดนีเซีย และ เวียดนามซึ่งคิดเป็นร้อยละ 12 ของปริมาณสินค้า สัตว์น้ำที่ไทยนำเข้าจากต่างประเทศทั้งหมด จึงเห็นได้ว่าตลาดอาเซียนเป็นตลาดที่มีความสำคัญและมีศักยภาพสูง
ในด้านบวกสินค้าประมงนับว่าเป็นสินค้าส่งออกของไทยที่สามารถสร้างรายได้เข้า ประเทศได้เกือบสามแสนล้านบาทต่อปี จึงนับว่าเป็นโอกาสของผู้ประกอบการขนาดใหญ่โดยเฉพาะกลุ่มสินค้าประมงแปรรูป ที่จะต้องรู้จักใช้ประโยชน์จากการสรรหาวัตถุดิบสินค้า ประมงในภูมิภาค รวมไปถึงโอกาสในการร่วมลงทุนระหว่างกันเพื่อขยายโรงงานในภาคการสรรหาวัตถุดิบสินค้าประมงในภูมิภาค รวมไปถึงโอกาสในการร่วมลงทุนระหว่างกันเพื่อขยายโรงงานในภาคการผลิต แต่ในปัจจุบันเราก็ต้องยอมรับว่าไทยประสบปัญหาการขาดแคลน วัตถุดิบ แรงงาน และค่าแรงที่สูงขึ้น เราจึงจำเป็นที่จะต้องมีการเตรียมความพร้อมให้กับผู้ประกอบของไทยในด้านการพัฒนาศักยภาพด้านการผลิตและการค้าสินค้าประมง
ในด้านผลกระทบด้านต่างๆ ที่อาจจะเกิดขึ้นหน่วยงานภาครัฐจะต้องทำหน้าที่ดูแล เช่น การควบคุม วัตถุดิบที่นำเข้ามาให้มีคุณภาพ และ มีมาตรฐาน เดียวกันโดนเฉพาะเรื่องการแพร่ของโรคระบาด ที่ต้องทำอย่างเข้มงวด ขณะที่กลุ่มชาวประมงรายย่อยอาจได้รับผลกระทบก็จะต้องส่งเสริม ให้เกิดการรวมกลุ่มเพื่อสร้างความแข็งแกร่ง และยกระดับมาตรฐานของฟาร์มประมงเพื่อเป็นการเพิ่มคุณภาพของสินค้า รวมทั้งส่งเสริมให้เกษตรพัฒนากลุ่มสินค้าที่สามารถแข่งขันได้
การเข้าสู่การเป็นประชาคม เศรษฐกิจอาเซียนจะเกิดความเปลี่ยนแปลงไปทั้งทางด้านเศรษฐกิจและสังคม ผู้ประกอบการไทยควรมีการเตรียมความพร้อมเพื่อรับการเปลี่ยนแปลงนี้ การเข้าสู่ขึ้นรวมทั้งขยายโอกาสเข้าสู่ประเทศไทยได้มากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่ออัตราภาษีนำเข้าระหว่างประเทศสมาชิกจะกลายเป็นศูนย์ทั้งหมดหน่วยงานภาครัฐของไทยจึงจำเป็นต้องเตรียมดำเนินมาตรการเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการทะลักเข้ามาของสินค้าที่ไม่ได้มาตรฐาน การแพร่กระจายของโรคระบาดต่างๆ จะต้องมีการดำเนินการควบคุมอย่างเข้มงวด เพื่อเป็นการคุ้มครองทั้งผู้บริโภค และผู้ผลิตภายในประเทศ
สำหรับการจัดสัมมนาในครั้งนี้ได้จัดให้มีการบรรยายเกี่ยวกับยุทธศาสตร์ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์และกรมประมง โดยผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร กิจกรรมเกษตร นักวิชาการจากมหาวิทยาลัย และผู้บริหารของบริษัทเอกชนชั้นนำ ซึ่งมีความรอบรู้และประสบการณ์อย่างกว้างขวางในแวดวงอาเซียน ผู้เข้าร่วมการสัมมนามีโอกาสได้แลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นกับ วิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิ และสามารถใช้ข้อมูลที่ได้รับเป็นแนวทางในการพัฒนา ศักยภาพด้านการผลิตและการค้าสินค้าประมงให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อธุรกิจของตน และประเทศชาติต่อไป