คณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา จัดประชุมวิชาการนานาชาติภาพ อิสลามศึกษา ครั้งที่ 1 หวังนำงานวิจัยพัฒนาพื้นที่ 3 จชต. พร้อมสร้างความเข้มแข็งให้กับเครือข่ายวิชาการของประชาคมประเทศอาเซียน
วันนี้(24ม.ค.56) เวลา 09.30 น. ที่ โรงแรม บี.พี.สมิหลา บีชฯ อ.เมือง จ.สงขลา ดร.เอนก ยมจินดา รองเลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้(ศอ.บต.) เป็นประธานเปิดการประชุมวิชาการนานาชาติอิสลามศึกษา ครั้งที่ 1(The 1st International Conference In Islamic Education) ซึ่งจัดโดยคณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา สำหรับในวันนี้ได้รับเกียรติจากนายมูฮัมหมัด ไฟซาล ราซาลี กงสุลใหญ่ประเทศมาเลเซียประจำจังหวัดสงขลา เข้าร่วมสังเกตการณ์ โดยมีผู้เข้าร่วมประชุม จำนวนกว่า 100 คน จากกลุ่มประเทศอาเซียนและประเทศอื่นๆ อาทิ ประเทศมาเลเซีย , ฟิลิปปินส์ , อินโดนีเซีย , บรูไนดารุสลาม , ไนจีเรีย , อินเดีย , โซมาเลีย , บอสเนียฯ
ผศ.ไกรสร ศรีไตรรัตน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา กล่าวว่า การจัดประชุมในครั้งนี้เพื่อฉลองครบรอบ 80 ปี การก่อตั้งคณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา เป็นส่วนหนึ่งของคณะฯ ตามปรัชญา คือ เป็นสถาบันอุดมศึกษาเพื่อพัฒนาท้องถิ่นจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยมุ่งเน้นการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ให้มีคุณภาพชีวิตที่สูงขึ้น ด้วยกระบวนการพัฒนาองค์ความรู้บนพื้นฐานการบูรณาการศาสตร์สากลและภูมิปัญญาท้องถิ่น ทางคณะครุศาตร์จึงได้จัดการศึกษาระดับบัณฑิตศึกษาใน 2 หลักสูตร ประกอบด้วย หลักสูตรการสอนอิสลามศึกษาในระดับมหาบัณฑิต และหลักสูตรบริหารการศึกษาในระดับมหาบัณฑิต เพื่อให้ตื่นตัวในการศึกษาค้นคว้าวิจัยในหลักสูตรดังกล่าวให้เกิดสันติภาพอย่างกว้างขวาง จึงนำมาสู่การจัดประชุมในครั้งนี้ เพื่อให้คณาจารย์นักศึกษาและบุคคลากรทางการศึกษาได้นำเสนอผลงาน ซึ่งเป็นองค์ความรู้ที่ได้จากงานวิจัยและวิทยานิพนธ์ เผยแพร่สู่สาธารณชน เป็นการประยุกต์ใช้ผลงานวิจัยของนักศึกษาให้เกิดประโยชน์ต่อสังคมและประเทศชาติ รวมไปถึงการสร้างเครือข่ายทางการวิจัยและวิทยานิพนธ์ระหว่างคณาจารย์ นักศึกษา และบุคคลากรทางการศึกษาในประเทศต่างๆ
ด้าน ดร.เอนก ยมจินดา รองเลขาธิการศอ.บต. กล่าวว่า ปัจจุบันทุกคนกำลังเข้าสู่ช่วงระยะเวลาในการเปิดประเทศเพื่อเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน การจัดกิจกรรมในครั้งนี้จึงให้ความสำคัญในการสร้างความเข้มแข็งให้กับเครือข่ายวิชาการของประชาคมประเทศอาเซียน ซึ่งการศึกษาเป็นเรื่องที่มีความสำคัญในการพัฒนาในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ของประเทศไทยมาอย่างยาวนาน การศึกษาวิจัยเพื่อค้นหาความรู้มาใช้ในการพัฒนาและแก้ไขปัญหาในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นสิ่งที่มีประโยชน์ในการพัฒนาประเทศ โดยใช้ฐานการวิจัย ดังนั้นการจัดการประชุมวิชาการระดับนานาชาติในครั้งนี้ จึงเป็นกิจกรรมที่สำคัญในการร่วมมือกัน และสร้างเครือข่ายร่วมกันระหว่างนักวิชาการ คณาจารย์ และนักศึกษาของกลุ่มประเทศในภูมิภาคอาเซียนและภูมิภาคอื่นๆ นำไปสู่การพัฒนาร่วมกันต่อไป