วันพุธที่ 10 ตุลาคม พ.ศ. 2555

ม.อ.เตรียมปฏิบัติการ 5 กลยุทธ์ มุ่งเป็นศูนย์กลางการศึกษาของอาเซียน

ข่าว Pstitch / ม.อ.เตรียมปฏิบัติการ 5 กลยุทธ์ มุ่งเป็นศูนย์กลางการศึกษาของอาเซียน

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.นิวัติ แก้วประดับ รองอธิการบดีฝ่ายวางแผนและการเงิน มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เปิดเผยว่า จากการที่ประเทศไทยกำลังจะก้าวเข้าสู่ประชาคมอาเซียนในปี 2558 ซึ่งการศึกษานับเป็นกลไกหลักในการนำประชาคมอาเซียนสู่ความเจริญรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจและสังคม มีศักยภาพในการแข่งขันและอำนาจต่อรองเจรจากับกลุ่มประเทศในภูมิภาคอื่นๆ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ในฐานะสถาบันอุดมศึกษาอันดับ 1 ในภาคใต้ของประเทศไทยจึงได้เริ่มจัดทำ "แผนปฏิบัติการสู่ประชาคมอาเซียน" พ.ศ.2555-2558 เพื่อการเป็นศูนย์กลางทางการศึกษาหรือ Education Hub ภายใต้ภาวการณ์เปิดเสรีของอาเซียนด้วย 5 กลยุทธ์หลัก ให้ก้าวสู่การเป็นศูนย์กลางทางการศึกษาของประชาคมอาเซียน และเตรียมความพร้อมของระบบสนับสนุนการศึกษาให้เป็นสากล โดยได้จำแนกเป็นกลยุทธ์ 5 ด้าน ประกอบด้วย กลยุทธ์การเตรียมพร้อมด้านการเรียนการสอน ด้วยการจัดโครงการเพื่อพัฒนาหลักสูตร ได้แก่ การเพิ่มหลักสูตรนานาชาติ การเพิ่มหลักสูตรร่วมกับมหาวิทยาลัยพันธมิตรในเอเชีย การเปิดสอนหลักสูตรอาเซียนศึกษา การจัดทำหลักสูตร Summer School โดยจับมือเป็นพันธมิตรกับมหาวิทยาลัยในประเทศมาเลเซียและสิงคโปร์ , กลยุทธ์ที่ 2 คือ การเตรียมพร้อมด้านการวิจัย โดยจัดทำระบบการนำผลงานและนวัตกรรมสู่การใช้งานเชิงพาณิชย์และพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมหรือ SMEs เพื่อส่งเสริมเศรษฐกิจ ฐานความรู้และความสามารถในการแข่งขัน การจัดตั้งสถาบันวิจัยเฉพาะทางที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมหลักของภาคใต้ การจัดกลุ่มวิจัยเพื่อศึกษาและสร้างองค์ความรู้เกี่ยวกับประชาคมอาเซียน , กลยุทธ์ถัดมาคือ การเตรียมพร้อมด้านการพัฒนาบุคลากร ซึ่งมหาวิทยาลัยจะส่งเสริมให้เกิดโครงการพัฒนาอาจารย์และบุคลากรให้มีสมรรถนะสากลเพื่อเตรียมความพร้อมการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน เช่น การส่งเสริมให้มีการแลกเปลี่ยนบุคลากรกับหน่วยงานในประเทศอาเซียน การให้ความรู้กับคณาจารย์และบุคลากรรวมทั้งประชาชนทั่วไปและบุคลากรด้านการศึกษาในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับประเทศสมาชิกอาเซียน ,กลยุทธ์ที่ 4 คือ การเตรียมพร้อมด้านการพัฒนานักศึกษา ด้วยการจัดโครงการเพื่อส่งเสริมให้นักศึกษามีความรู้ ความสามารถทางด้านภาษา ทั้งภาษาอังกฤษและภาษาของประเทศสมาชิกกลุ่มอาเซียน ทักษะด้านเทคโนโลยีการสื่อสาร สนับสนุนให้นักศึกษาระดับบัณฑิตมีอาจารย์ที่ปรึกษาร่วมเป็นชาวต่างชาติ เพื่อเป็นช่องทางให้นักศึกษามีโอกาสและประสบการณ์ทำวิจัยในต่างประเทศ การส่งเสริมความรู้เกี่ยวกับชนชาติและวัฒนธรรมของประเทศอาเซียนผ่านการจัดกิจกรรมหรืองานวิชาการต่างๆ และกลยุทธ์สุดท้าย กลยุทธ์ที่ 5 คือการเตรียมพร้อมด้านวิเทศสัมพันธ์ โดยเน้นการสร้างแรงจูงใจให้นักศึกษาจากประเทศสมาชิกประชาคมอาเซียนเข้ามาศึกษาที่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์มากขึ้น โดยเฉพาะ ประเทศอินโดนีเซีย เวียดนาม ลาว กัมพูชาและพม่า การจัดตั้งศูนย์ประสานงานนักศึกษาต่างชาติ เพื่อให้บริการแบบจุดเดียวเบ็ดเสร็จ (One Stop Service) สำหรับดูแลนักศึกษาต่างชาติอย่างมีประสิทธิภาพ และการสร้างเครือข่ายฐานข้อมูลสารสนเทศเพื่อเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ผลงานที่เป็นประโยชน์ออกสู่สายตานานาชาติ รวมทั้งการสร้างความร่วมมือกับประเทศสมาชิกอาเซียนในด้านต่างๆ เป็นต้น

Read more...

วันอังคารที่ 9 ตุลาคม พ.ศ. 2555

ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานเปิดการประชุมผู้บริหารและคณะครูวิทยาลัยอาชีวเอกชนประจำปี 2555 “อาชีวศึกษาเอกชน มุ่งสู่มาตรฐานสากล” ที่ จ.สงขลา

ข่าว สุธิดา พฤกษ์อุุดม ภาพ โปรดปราน บุญธรรม / ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานเปิดการประชุมผู้บริหารและคณะครูวิทยาลัยอาชีวเอกชนประจำปี 2555 "อาชีวศึกษาเอกชน มุ่งสู่มาตรฐานสากล" ที่ จ.สงขลา 

วันนี้(9 ต.ค.55) เวลา 09.00 น. ที่ โรงแรมหรรษา เจ.บี. อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา นางพนิตา กำภู ณ อยุธยา ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานเปิดการประชุมผู้บริหารและคณะครูวิทยาลัยอาชีวเอกชนประจำปี 2555 "อาชีวศึกษาเอกชน มุ่งสู่มาตรฐานสากล" โดยมีผู้เข้าร่วมงานจาก 345 สถานศึกษาเอกชนทั่วประเทศ จำนวนกว่า 600 คน นางพนิตา กำภู ณ อยุธยา ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ได้กล่าวมอบนโยบายแก่ผู้เข้าร่วมประชุมใน 4 เรื่อง ประกอบด้วย การแก้ปัญหาเด็กและเยาวชนใน 2 เรื่องเร่งด่วน คือ การแก้ปัญหาการตั้งครรภ์ก่อนวัยอันควร โดยขอความร่วมมือทุกสถานศึกษาในการจัดการเรียนการสอนเรื่องเพศศึกษาและแก้ปัญหาการตั้งครรภ์ก่อนวัยอันควร ปัญหานักเรียนก่อเหตุทะเลาะวิวาท โดยมีแนวคิดในการจัดทำโครงการมอบดอกไม้แทนอาวุธ ด้วยการนำนักเรียนนักศึกษาเข้าร่วมกิจกรรมบำเพ็ญประโยชน์ และการสร้างครูให้เป็นพ่อแม่ทดแทนพ่อแม่ของเด็กจริงๆ ที่อยู่ต่างจังหวัด , การพัฒนาครูให้มีมาตรฐานทัดเทียมกันทั้งประเทศ ทั้งภาครัฐ และเอกชน เพื่อให้นักเรียนได้รับการศึกษาที่เท่าเทียมกันทั้งประเทศ โดยการผลักดันให้ครูเอกชนมีสวัสดิการเท่าเทียมกับครูภาครัฐ เช่น การสนับสนุนเงินเดือนขั้นต่ำปริญญาตรี 15,000 บาท การพยายามสนับสนุนในการก่อตั้งกองทุนให้ครูเอกชนมีตำแหน่งทางวิชาการเทียบเท่าภาครัฐ , การต่อยอดโครงการหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ของรัฐบาลให้เชื่อมโยงกับการฝึกอาชีพของนักเรียน เพื่อเป็นรายได้สำหรับค่าใช้จ่ายในการศึกษา โดยมีการพัฒนาคุณภาพสินค้า การบรรจุหีบห่อ และสถานศึกษาที่นักเรียนนักศึกษาที่มีอายุ 15 ปี ให้เข้ามาสมัครเป็นสมาชิกกองทุนบทบาทสตรีเพื่อเด็กและเยาวชนที่ขาดโอกาส และสิ่งที่สำคัญอีกเรื่องหนึ่ง คือ เรื่องการพัฒนานักศึกษาสู่ประชาคมอาเซียน โดยขอความร่วมมือสถานศึกษาในการสร้างความรู้ความเข้าใจทักษะภาษาอังกฤษ ทั้ง การฟัง การพูด การอ่าน และการเขียนได้ทัดเทียมกับนานาชาติ พร้อมทั้งให้เพิ่มการศึกษาภาษาของประเทศเพื่อนบ้านเพิ่มเติมอีกอย่างน้อย 1 ประเทศ เช่น ภาษาจีน และภาษามาเลย์ นอกจากนี้ยังให้มีความร่วมมือกับสถาบันการศึกษาของประเทศในกลุ่มอาเซียน กับการแลกเปลี่ยนเยาวชน นักศึกษา และบุคลากรระหว่างประเทศ การถ่ายโอนหน่วยกิต รวมถึงการพัฒนาหลักสูตรของสถานศึกษาให้เหมาะสมตามความต้องการของท้องถิ่นและนานาชาติอีกด้วย

Read more...

วันจันทร์ที่ 8 ตุลาคม พ.ศ. 2555

ม.อ. ผนึกกำลังกับซีพี ขยายสหกิจศึกษาสู่สายการผลิตอุตสาหกรรมฮาลาล รองรับประชาคมอาเซียน

Pstitch / ม.อ. ผนึกกำลังกับซีพี ขยายสหกิจศึกษาสู่สายการผลิตอุตสาหกรรมฮาลาล รองรับประชาคมอาเซียน

ดร. ภาสกร ธรรมโชติ ประธานโครงการ "สหกิจศึกษาฮาลาล" มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตสุราษฏร์ธานี เปิดเผยว่า อุตสาหกรรมสินค้าฮาลาล เป็นกลุ่มอุตสาหกรรมหนึ่งที่รัฐบาลมีนโยบายส่งเสริมและมีศักยภาพในการขยายตัวเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะประชากรมุสลิมทั่วโลกมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อยๆในอนาคตที่จะเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ทำให้ตลาดสินค้าฮาลาล เป็นตลาดที่มีศักยภาพในการเติบโตค่อนข้างมาก และมีความต้องการนักศึกษาที่จะเข้าไปสู่อุตสาหกรรมฮาลาลจำนวนมากในอนาคต อย่างไรก็ตาม การจัดการสหกิจศึกษาในปัจจุบัน ยังไม่ได้ให้ความสำคัญในการพัฒนานักศึกษาที่จะเข้าไปสู่ภาคอุตสาหกรรม ที่เกี่ยวข้องกับสินค้าฮาลาลอย่างจริงจัง โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มนักศึกษาชาวไทยมุสลิม ซึ่งจะสามารถเป็นกำลังสำคัญส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมฮาลาลในประเทศไทย

คณะทำงานสหกิจศึกษา วิทยาเขตสุราษฏร์ธานี ซึ่งประกอบไปด้วย ดร. ภาสกร ธรรมโชติ ดร.พรพงษ์ สุทธิรักษ์ ดร. ธัญจิรา เทพรัตน์ ดร.สรายุทธ อ่อนสนิท อาจารย์ศุภัชกรณ์ หลิมเองฮะ และคณะทำงานกองวิชาการและพัฒนานักศึกษา ซึ่งได้รับการสนับสนุนเชิงนโยบายอย่างดียิ่งจากทีมบริหารวิทยาเขตสุราษฏร์ธานี จึงมีโครงการจะเปิดโอกาสให้นักศึกษาชาวไทยมุสลิม ซึ่งจะเป็นกำลังสำคัญในภาคการผลิตสินค้าฮาลาล เข้าไปปฏิบัติงานในสถานสายการผลิตที่เกี่ยวข้องกับการผลิตสินค้าฮาลาล โดยร่วมมือกับบริษัทเจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) เพื่อให้เกิดการเรียนรู้จากการทำงานจริงและทำให้นักศึกษาชาวไทยมุสลิมมีทักษะ และความสามารถตรงตามที่สถานประกอบการมีความต้องการในภาคผลิตสินค้าฮาลาล ตลอดจนเพื่อยกระดับมาตรฐานคุณภาพชีวิตของชาวไทยมุสลิมให้มีมาตรฐานที่สูงขึ้น สำหรับโครงการดังกล่าว จะเริ่มในภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2555 ซึ่งจะเป็นการเปิดศักราชสหกิจศึกษาฮาลาล สำหรับนักศึกษาชาวไทยมุสลิมและขยายโอกาสให้กับสถาบันการศึกษาอื่นๆ ในอนาคต ภายใต้การริเริ่มของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตสุราษฏร์ธานี ซึ่งมีนโยบายในการส่งเสริมระบบสหกิจศึกษาอย่างจริงจัง นับเป็นการจัดทำโครงการ"สหกิจศึกษาฮาลาล" (Halal Cooperative Education) ของระบบสหกิจศึกษาของมหาวิทยาลัยในประเทศไทย ปัจจุบันประเทศไทยได้กำหนดให้ "สหกิจศึกษา" เป็นองค์ประกอบที่สำคัญของการศึกษาในหลักสูตรระดับปริญญาตรี โดยสถาบันการศึกษาในประเทศไทยได้จัดให้มีการศึกษาในรูปแบบสหกิจศึกษาเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง การจัดระบบสหกิจศึกษาในสถาบันการศึกษามีวัตถุประสงค์ที่จะมุ่งเน้นการปฏิบัติงานในสถานประกอบการอย่างมีระบบ โดยจัดให้มีการเรียนในสถานศึกษาร่วมกับการจัดให้นักศึกษาไปปฏิบัติงานจริง ณ สถานประกอบการ โดยเน้นการเรียนรู้จากการทางานจริงเป็นหลัก ทำให้นักศึกษาสามารถเรียนรู้ประสบการณ์จากการทำงาน และมีคุณภาพตรงตามที่สถานประกอบการต้องการมากที่สุด

 

Read more...