ม.อ. ผนึกกำลังกับซีพี ขยายสหกิจศึกษาสู่สายการผลิตอุตสาหกรรมฮาลาล รองรับประชาคมอาเซียน
Pstitch / ม.อ. ผนึกกำลังกับซีพี ขยายสหกิจศึกษาสู่สายการผลิตอุตสาหกรรมฮาลาล รองรับประชาคมอาเซียน
ดร. ภาสกร ธรรมโชติ ประธานโครงการ "สหกิจศึกษาฮาลาล" มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตสุราษฏร์ธานี เปิดเผยว่า อุตสาหกรรมสินค้าฮาลาล เป็นกลุ่มอุตสาหกรรมหนึ่งที่รัฐบาลมีนโยบายส่งเสริมและมีศักยภาพในการขยายตัวเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะประชากรมุสลิมทั่วโลกมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อยๆในอนาคตที่จะเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ทำให้ตลาดสินค้าฮาลาล เป็นตลาดที่มีศักยภาพในการเติบโตค่อนข้างมาก และมีความต้องการนักศึกษาที่จะเข้าไปสู่อุตสาหกรรมฮาลาลจำนวนมากในอนาคต อย่างไรก็ตาม การจัดการสหกิจศึกษาในปัจจุบัน ยังไม่ได้ให้ความสำคัญในการพัฒนานักศึกษาที่จะเข้าไปสู่ภาคอุตสาหกรรม ที่เกี่ยวข้องกับสินค้าฮาลาลอย่างจริงจัง โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มนักศึกษาชาวไทยมุสลิม ซึ่งจะสามารถเป็นกำลังสำคัญส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมฮาลาลในประเทศไทย
คณะทำงานสหกิจศึกษา วิทยาเขตสุราษฏร์ธานี ซึ่งประกอบไปด้วย ดร. ภาสกร ธรรมโชติ ดร.พรพงษ์ สุทธิรักษ์ ดร. ธัญจิรา เทพรัตน์ ดร.สรายุทธ อ่อนสนิท อาจารย์ศุภัชกรณ์ หลิมเองฮะ และคณะทำงานกองวิชาการและพัฒนานักศึกษา ซึ่งได้รับการสนับสนุนเชิงนโยบายอย่างดียิ่งจากทีมบริหารวิทยาเขตสุราษฏร์ธานี จึงมีโครงการจะเปิดโอกาสให้นักศึกษาชาวไทยมุสลิม ซึ่งจะเป็นกำลังสำคัญในภาคการผลิตสินค้าฮาลาล เข้าไปปฏิบัติงานในสถานสายการผลิตที่เกี่ยวข้องกับการผลิตสินค้าฮาลาล โดยร่วมมือกับบริษัทเจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) เพื่อให้เกิดการเรียนรู้จากการทำงานจริงและทำให้นักศึกษาชาวไทยมุสลิมมีทักษะ และความสามารถตรงตามที่สถานประกอบการมีความต้องการในภาคผลิตสินค้าฮาลาล ตลอดจนเพื่อยกระดับมาตรฐานคุณภาพชีวิตของชาวไทยมุสลิมให้มีมาตรฐานที่สูงขึ้น สำหรับโครงการดังกล่าว จะเริ่มในภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2555 ซึ่งจะเป็นการเปิดศักราชสหกิจศึกษาฮาลาล สำหรับนักศึกษาชาวไทยมุสลิมและขยายโอกาสให้กับสถาบันการศึกษาอื่นๆ ในอนาคต ภายใต้การริเริ่มของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตสุราษฏร์ธานี ซึ่งมีนโยบายในการส่งเสริมระบบสหกิจศึกษาอย่างจริงจัง นับเป็นการจัดทำโครงการ"สหกิจศึกษาฮาลาล" (Halal Cooperative Education) ของระบบสหกิจศึกษาของมหาวิทยาลัยในประเทศไทย ปัจจุบันประเทศไทยได้กำหนดให้ "สหกิจศึกษา" เป็นองค์ประกอบที่สำคัญของการศึกษาในหลักสูตรระดับปริญญาตรี โดยสถาบันการศึกษาในประเทศไทยได้จัดให้มีการศึกษาในรูปแบบสหกิจศึกษาเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง การจัดระบบสหกิจศึกษาในสถาบันการศึกษามีวัตถุประสงค์ที่จะมุ่งเน้นการปฏิบัติงานในสถานประกอบการอย่างมีระบบ โดยจัดให้มีการเรียนในสถานศึกษาร่วมกับการจัดให้นักศึกษาไปปฏิบัติงานจริง ณ สถานประกอบการ โดยเน้นการเรียนรู้จากการทางานจริงเป็นหลัก ทำให้นักศึกษาสามารถเรียนรู้ประสบการณ์จากการทำงาน และมีคุณภาพตรงตามที่สถานประกอบการต้องการมากที่สุด