วันอังคารที่ 9 ตุลาคม พ.ศ. 2555

ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานเปิดการประชุมผู้บริหารและคณะครูวิทยาลัยอาชีวเอกชนประจำปี 2555 “อาชีวศึกษาเอกชน มุ่งสู่มาตรฐานสากล” ที่ จ.สงขลา

ข่าว สุธิดา พฤกษ์อุุดม ภาพ โปรดปราน บุญธรรม / ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานเปิดการประชุมผู้บริหารและคณะครูวิทยาลัยอาชีวเอกชนประจำปี 2555 "อาชีวศึกษาเอกชน มุ่งสู่มาตรฐานสากล" ที่ จ.สงขลา 

วันนี้(9 ต.ค.55) เวลา 09.00 น. ที่ โรงแรมหรรษา เจ.บี. อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา นางพนิตา กำภู ณ อยุธยา ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานเปิดการประชุมผู้บริหารและคณะครูวิทยาลัยอาชีวเอกชนประจำปี 2555 "อาชีวศึกษาเอกชน มุ่งสู่มาตรฐานสากล" โดยมีผู้เข้าร่วมงานจาก 345 สถานศึกษาเอกชนทั่วประเทศ จำนวนกว่า 600 คน นางพนิตา กำภู ณ อยุธยา ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ได้กล่าวมอบนโยบายแก่ผู้เข้าร่วมประชุมใน 4 เรื่อง ประกอบด้วย การแก้ปัญหาเด็กและเยาวชนใน 2 เรื่องเร่งด่วน คือ การแก้ปัญหาการตั้งครรภ์ก่อนวัยอันควร โดยขอความร่วมมือทุกสถานศึกษาในการจัดการเรียนการสอนเรื่องเพศศึกษาและแก้ปัญหาการตั้งครรภ์ก่อนวัยอันควร ปัญหานักเรียนก่อเหตุทะเลาะวิวาท โดยมีแนวคิดในการจัดทำโครงการมอบดอกไม้แทนอาวุธ ด้วยการนำนักเรียนนักศึกษาเข้าร่วมกิจกรรมบำเพ็ญประโยชน์ และการสร้างครูให้เป็นพ่อแม่ทดแทนพ่อแม่ของเด็กจริงๆ ที่อยู่ต่างจังหวัด , การพัฒนาครูให้มีมาตรฐานทัดเทียมกันทั้งประเทศ ทั้งภาครัฐ และเอกชน เพื่อให้นักเรียนได้รับการศึกษาที่เท่าเทียมกันทั้งประเทศ โดยการผลักดันให้ครูเอกชนมีสวัสดิการเท่าเทียมกับครูภาครัฐ เช่น การสนับสนุนเงินเดือนขั้นต่ำปริญญาตรี 15,000 บาท การพยายามสนับสนุนในการก่อตั้งกองทุนให้ครูเอกชนมีตำแหน่งทางวิชาการเทียบเท่าภาครัฐ , การต่อยอดโครงการหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ของรัฐบาลให้เชื่อมโยงกับการฝึกอาชีพของนักเรียน เพื่อเป็นรายได้สำหรับค่าใช้จ่ายในการศึกษา โดยมีการพัฒนาคุณภาพสินค้า การบรรจุหีบห่อ และสถานศึกษาที่นักเรียนนักศึกษาที่มีอายุ 15 ปี ให้เข้ามาสมัครเป็นสมาชิกกองทุนบทบาทสตรีเพื่อเด็กและเยาวชนที่ขาดโอกาส และสิ่งที่สำคัญอีกเรื่องหนึ่ง คือ เรื่องการพัฒนานักศึกษาสู่ประชาคมอาเซียน โดยขอความร่วมมือสถานศึกษาในการสร้างความรู้ความเข้าใจทักษะภาษาอังกฤษ ทั้ง การฟัง การพูด การอ่าน และการเขียนได้ทัดเทียมกับนานาชาติ พร้อมทั้งให้เพิ่มการศึกษาภาษาของประเทศเพื่อนบ้านเพิ่มเติมอีกอย่างน้อย 1 ประเทศ เช่น ภาษาจีน และภาษามาเลย์ นอกจากนี้ยังให้มีความร่วมมือกับสถาบันการศึกษาของประเทศในกลุ่มอาเซียน กับการแลกเปลี่ยนเยาวชน นักศึกษา และบุคลากรระหว่างประเทศ การถ่ายโอนหน่วยกิต รวมถึงการพัฒนาหลักสูตรของสถานศึกษาให้เหมาะสมตามความต้องการของท้องถิ่นและนานาชาติอีกด้วย