วันพุธที่ 18 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

ศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคที่ 11 จัดโครงการส่งเสริมและพัฒนาการรวมกลุ่มอุตสาหกรรมยางพารากลุ่มจังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อก้าวสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน

ข่าว สุธิดา พฤกษ์อุดม ภาพ โปรดปราน บุญธรรม / ศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคที่ 11 จัดโครงการส่งเสริมและพัฒนาการรวมกลุ่มอุตสาหกรรมยางพารากลุ่มจังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อก้าวสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน                  

วันนี้(18ก.ค.55) เวลา 09.30 น. ที่ โรงแรมหาดใหญ่พาราไดส์ฯ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา นายพิรสิญจ์ พันธุ์เพ็ง รองผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา เป็นประธานเปิดโครงการส่งเสริมและพัฒนาการรวมกลุ่มอุตสาหกรรมยางพารากลุ่มจังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อก้าวสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน โดยมีผู้เข้าร่วมงานกว่า 100 คน ประกอบด้วย ผู้ประกอบกิจการอุตสาหกรรมยางข้น-ยางแท่ง , อุตสาหกรรมแปรรูปยางพารา , สหกรณ์กองทุนสวนยาง , หน่วยงานภาครัฐและเอกชน นายอัฐพร พะระรามันห์ หัวหน้าส่วนพัฒนาระบบสนับสนุนอุตสาหกรรม ศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคที่ 11 เปิดเผยว่า  ปัจจุบันพื้นที่กรีดยางพาราในกลุ่มจังหวัดชายแดนภาคใต้ทั้ง จ.สงขลา สตูล ปัตตานี ยะลา และ นราธิวาส มีจำนวนทั้งสิ้นกว่า 3 ล้าน 3 แสนไร่ โดยนำมาแปรรูปในอุตสาหกรรมขั้นต้น โดยเฉพาะกลุ่มอุตสาหกรรมยางแผ่นดิบ กลุ่มอุตสาหกรรมน้ำยางข้น กลุ่มอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์ยาง และกลุ่มอุตสาหกรรมไม้ยางพาราแปรรูป  แต่ผู้ประกอบการในพื้นที่ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ กำลังประสบปัญหาที่สำคัญ คือ ปัญหาการรวมกลุ่มเพื่อพัฒนาการผลิตให้ถูกต้อง รวมถึงเทคโนโลยีการแปรรูป ซึ่งส่งผลต่ออัตราการสูญเสียและต้นทุนการผลิตที่เพิ่มขึ้น ดังนั้น การส่งเสริมการพัฒนาการรวมกลุ่มอุตสาหกรรมยางพาราให้มีขีดความสามารถในการแข่งขันที่สูงขึ้น มีนวัตกรรมและส่งออกสินค้าเพิ่มขึ้น พร้อมทั้งสนับสนุนการถ่ายทอดเทคโนโลยี เพื่อเข้ามาปรับปรุงกระบวนการต่างๆในการผลิตให้ผู้ประกอบการไทยสามารถส่งออกผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพแข่งขันในตลาดโลกได้ จึงได้จัดโครงการในครั้งนี้ขึ้น เพื่อเป็นการเพิ่มศักยภาพการแข่งขันผู้ประกอบการอุตสาหกรรมยางพารา ทั้งในระดับต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ เพื่อรองรับการเปิดประตูสู่อาเซียนในปี 2558 เป็นการพัฒนาให้เกิดการรวมกลุ่มเครือข่ายกิจการยางพารา และมีการกำหนดเป้าหมาย กลยุทธ์แผนปฏิบัติการกลุ่มเครือข่ายกิจการ รวมทั้งการสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ๆให้เกิดขึ้นอีกด้วย กิจกรรมในวันนี้ประกอบด้วย การบรรยายในหัวข้อ "เจาะกระแสสถานการณ์และแนวโน้มยางพาราไทย" ,  การถ่ายทอดเทคโนโลยี นวัตกรรมด้านการลดต้นทุนการผลิต , การแนะนำโครงการพัฒนาการรวมกลุ่มการสร้างความเข้มแข็งของกลุ่มอุตสาหกรรมยางพารา , แนวทางการจัดทำยุทธศาสตร์พัฒนาการรวมกลุ่มคลัสเตอร์ ฯลฯ