วันพฤหัสบดีที่ 10 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

รายงานพิเศษ : สอศ.เดินหน้าสานต่อโครงการพัฒนาการศึกษาจังหวัดชายแดนภาคใต้“TVET Camp”สู่ประเทศอื่นในอาเซียน หลังความร่วมมือกับอินโดนีเซียประสบผลสำเร็จ

รายงานพิเศษ : สุธิดา พฤกษ์อุดม / สอศ.เดินหน้าสานต่อโครงการพัฒนาการศึกษาจังหวัดชายแดนภาคใต้"TVET Camp"สู่ประเทศอื่นในอาเซียน หลังความร่วมมือกับอินโดนีเซียประสบผลสำเร็จ

จากการที่สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา(สอศ.) กระทรวงศึกษาธิการได้มีนโยบายเพื่อให้เกิดความสอดคล้องกับนโยบายด้านการต่างประเทศในปัจจุบันเพื่อฟื้นฟูสร้างความสัมพันธ์และความร่วมมือระหว่างประเทศในทุกด้าน ศูนย์พัฒนาการศึกษาเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจจังหวัดชายแดนภาคใต้ จึงได้มีการสร้างความตระหนักในการเร่งสร้างความรู้ความเข้าใจ พร้อมเตรียมบุคลากรตามกรอบของประชาคมอาเซียน และได้จัดโครงการนำคณะครูและนักเรียนดูงานยังต่างประเทศขึ้น ภายใต้โครงการพัฒนาการศึกษาจังหวัดชายแดนภาคใต้เตรียมพร้อมศักยภาพเยาวชนไทยสู่ประชาคมอาเซียน " School Partnership Program ไทย-อินโดนีเซีย : TVET Camp 2012" นายปรีชา เวชศาสตร์ ผู้อำนวยการศูนย์พัฒนาการศึกษาเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจจังหวัดชายแดนภาคใต้ เปิดเผยว่า โครงการดังกล่าวจัดขึ้นเพื่อร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์เกี่ยวกับการเรียนสาขาอาชีพต่างๆ , ด้านอิสลามศึกษา , ภาษาอังกฤษ , ภาษามาลายู  รวมไปถึงเทคโนโลยีทางด้านการศึกษาวิชาชีพระหว่างประเทศไทยกับประเทศอินโดนีเซีย เป็นการยกระดับอาชีวศึกษาสู่มาตรฐานการศึกษาอาเซียนในปี 2558 ได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยในปีนี้จัดขึ้นเป็นครั้งที่ 3 ระหว่างวันที่ 20 เมษายน – 12 พฤษภาคม 2555 มีครู-นักเรียนไทยจาก 17 วิทยาลัย สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษาในเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจพื้นที่ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ประกอบด้วย จ.นราธิวาส  จ.ปัตตานี จ.ยะลา จ.สตูล และ 4  อำเภอของจังหวัดสงขลา เข้าร่วมโครงการฯ จำนวน 93 คน ณ เมืองบาหลี เมืองสุราบายา และเมืองยอร์คยากาต้าร์ ประเทศอินโดนีเซีย หลังจากที่คณะผู้บริหาร สอศ.นิเทศติดตามผู้เข้าร่วมโครงการดังกล่าวระหว่างวันที่ 4-7 พฤษภาคมที่ผ่านมา ที่ประเทศอินโดนีเซียถือว่าประสบผลสำเร็จเป็นอย่างมาก โดยทางด้าน นายประเสริฐ แก้วเพชร ที่ปรึกษาสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา กล่าวว่า นักศึกษาที่เข้าร่วมโครงการฯมีความสุขมาก เพราะได้รับประสบการณ์เพิ่มขึ้นทั้งทางด้านวิชาการ การเรียนรู้วิถีชีวิตวัฒนธรรมและเทคโนโลยีต่างๆ รวมไปถึงเรื่องภาษาที่ได้ศึกษาทั้งภาษาอังกฤษและภาษาบาฮาซาซึ่งเป็นภาษาของประเทศอินโดนีเซีย โดยได้รับการดูแลจากเจ้าบ้านเป็นอย่างดีทำให้ทั้ง 2 ประเทศมีความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นมากยิ่งขึ้น ทั้งนี้ จากความสำเร็จดังกล่าว ทางผู้บริหารของ สอศ.จะหารือร่วมกันต่อไปในการแลกเปลี่ยนครูระหว่างกัน และมีการเพิ่มระยะเวลาของโครงการฯให้เป็นภาคเรียนหรือเป็นปี นอกจากนี้ในช่วงปลายเดือนมิถุนายน 2555 ทางประเทศไทยจะได้เป็นเจ้าภาพในการต้อนรับนักศึกษาจากอินโดนีเซีย ซึ่งจะจัดให้มีกิจกรรมที่คล้ายกัน ทั้งด้านวิชาการ วัฒนธรรม วิถีชีวิตความเป็นอยู่ พร้อมทั้งจัดการแข่งขันทักษะวิชาชีพของแต่ละวิทยาลัย ในการกระตุ้นให้นักศึกษาได้มีการปรึกษาหารือมากยิ่งขึ้น สามารถนำความรู้ที่แต่ละคนมีถ่ายทอดให้กันและกันให้มากที่สุด เป็นPartnerร่วมกันในการประกอบอาชีพและเรื่องอื่นๆตามมา นอกจากนี้จะมีการขยายผลการดำเนินโครงการฯไปยังประเทศอื่นๆในกลุ่มสมาชิกอาเซียนไม่ว่าจะเป็นประเทศมาเลเซีย หรือบรูไน ซึ่งคาดว่าจะสามารถเติมเต็มคำว่าอาเซียนที่จะมาถึงได้อย่างสมบูรณ์ต่อไป ด้าน นายเฉลียว อยู่สีมารักษ์ อดีตเลขาธิการ สอศ. ในฐานะผู้ริเริ่มโครงการฯ กล่าวว่า ตนเองรู้สึกดีใจที่ผู้บริหารสถานศึกษาของอินโดนีเซียให้ความสนใจกับโครงการดังกล่าวเป็นอย่างมาก และนักศึกษาที่เข้าร่วมโครงการจะได้รับประโยชน์หลายด้าน โดยเฉพาะการเปิดการค้าเสรีสู่อาเซียนในปี 2015 ให้นักเรียนได้มีการเรียนรู้ซึ่งกันและกันเนื้อหาสาระวิชาการที่จะต้องเข้ามาประสานกัน และที่สำคัญที่สุดเด็กในพื้นที่ จชต.ของไทยกับอินโดนีเซียนับถือศาสนาเดียวกัน จึงจำเป็นที่จะต้องเรียนรู้วิถีชีวิตความเป็นอยู่ ซึ่งได้ฝากให้ผู้บริหารของทั้ง 2 ประเทศ มีการจัดทำเว็บไซต์เพื่อประชาสัมพันธ์ในกฎกติกาสำหรับการอยู่ร่วมกันให้รู้พื้นฐานก่อนที่จะเข้ามาเรียนรู้ซึ่งกันและกัน พร้อมทั้งอยากให้มีการจัดโครงการนี้ต่อเนื่องต่อไป และขยายโครงการนี้ไปยังประเทศต่างๆในอาเซียนด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศใกล้เคียง อาทิ ประเทศมาเลเซีย บรูไน พม่า ฯลฯ