วันศุกร์ที่ 4 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

ผู้บริหารสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษานิเทศติดตามนักเรียนนักศึกษาค่ายอาชีวศึกษาไทย-อินโดนีเซีย ณ เมืองบาหลี เตรียมพร้อมศักยภาพเยาวชนไทยสู่อาเซียน

ข่าว สุธิดา พฤกษ์อุดม / ผู้บริหารสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษานิเทศติดตามนักเรียนนักศึกษาค่ายอาชีวศึกษาไทย-อินโดนีเซีย ณ เมืองบาหลี เตรียมพร้อมศักยภาพเยาวชนไทยสู่อาเซียน

ช่วงค่ำวันนี้(4พ.ค.55) ที่ โรงเรียน SMK N 1 Denpasar  เมืองบาหลี ประเทศอินโดนีเซีย นายประเสริฐ แก้วเพชร ที่ปรึกษาสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา(สอศ.) พร้อมด้วย นายเฉลียว อยู่สีมารักษ์ อดีตเลขาธิการ สอศ.และคณะผู้บริหารสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษานิเทศติดตามนักเรียนนักศึกษาในโครงการ School Partnership Program ไทย-อินโดนีเซีย ภายใต้โครงการพัฒนาการศึกษาจังหวัดชายแดนภาคใต้เตรียมพร้อมศักยภาพเยาวชนไทยสู่ประชาคมอาเซียน ซึ่งมีผู้เข้าร่วมการนิเทศกว่า 50 คน

นายประเสริฐ แก้วเพชร ที่ปรึกษาสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา กล่าวว่า สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษาได้มีนโยบายเพื่อให้เกิดความสอดคล้องกับนโยบายด้านการต่างประเทศในปัจจุบัน โดยการฟื้นฟูสร้างความสัมพันธ์และความร่วมมือระหว่างประเทศในทุกด้าน จึงได้มีการสร้างความตระหนักเร่งสร้างความรู้ความเข้าใจ พร้อมทั้งเตรียมบุคลากรตามกรอบของประชาคมอาเซียน และได้จัดโครงการนำคณะครูและนักศึกษาดูงานยังต่างประเทศในครั้งนี้ขึ้น เพื่อร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์เกี่ยวกับการเรียนสาขาอาชีพต่างๆ , ด้านอิสลามศึกษา , ภาษาอังกฤษ , ภาษามาลายู  รวมไปถึงเทคโนโลยีทางด้านการศึกษาวิชาชีพระหว่างประเทศไทยกับประเทศอินโดนีเซีย เป็นการยกระดับอาชีวศึกษาสู่มาตรฐานการศึกษาอาเซียนในปี 2558 ได้อย่างมีประสิทธิภาพ สำหรับการจัดโครงการในครั้งนี้เป็นครั้งที่ 3 ระหว่างวันที่ 20 เมษายน – 12 พฤษภาคม 2555 ณ เมืองบาหลี เมืองสุราบายา และเมืองยอร์คยากาต้าร์ ประเทศอินโดนีเซีย ซึ่งถือได้ว่ามีความก้าวหน้ามากยิ่งขึ้นทั้งในการขยายจำนวนนักเรียนและโรงเรียนในการแลกเปลี่ยนซึ่งกันและกัน โดยในเดือนมิถุนายนนี้ทางประเทศไทยจะได้เป็นเจ้าภาพในการรับนักเรียนแลกเปลี่ยนจากประเทศอินโดนีเซียด้วย

นายเฉลียว อยู่สีมารักษ์ อดีตเลขาธิการ สอศ. ได้กล่าวขอบคุณผู้บริหารสถานศึกษาของประเทศอินโดนีเซียที่ได้ดูแลนักศึกษาไทยเป็นอย่างดี พร้อมทั้งกล่าวชื่นชมในการจัดโครงการดังกล่าว เพื่อร่วมแลกเปลี่ยนวัฒนธรรม วิถีชีวิต ภาษา และเทคโนโลยีต่างๆในการเตรียมเป็นสมาชิกครอบครัวเดียวกันของอาเซียนในปี 2558 และหวังเป็นอย่างยิ่งว่าโครงการดังกล่าวจะยังคงสานต่ออย่างยั่งยืนต่อไป